ฮันบกของสุภาพบุรุษ ตอนฮันบกที่สวมใส่โดยทั่วไป

ฮันบกของสุภาพบุรุษ  ตอนที่ 1

ตอน "ฮันบก"ที่สวมใส่โดยทั่วไป 

ฮันบกสุภาพบุรุษ ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักๆ คือ

1. กางเกง ที่เรียกว่า “พาจี (바지-Baji)”




2. เสื้อ ที่มีขนาดตัวเสื้อสั้นถึงเอว แขนเสื้อยาว และมีคอเสื้อป้าย ซ้อนทับกัน ที่เรียกว่า “ชอกอรี (저고리-Jeogori)"


3. เสื้อคลุมสั้น
เป็นเสื้อคลุมที่มีขนาดตัวเสื้อสั้นประมาณเอว มีทั้งแขนสั้นและแขนยาว และมีคอเสื้อที่แตกต่างกัน จะสวมใส่ทับเสื้อชอกอรี (저고리) มักจะสวมใส่เสื้อคลุมประเภทนี้ตอนออกนอกบ้านโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ซึ่งมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันดังนี้
3.1 “มาโกจา (마고자- Magoja )” เป็นเสื้อแขนยาว มีลักษณะคล้ายกับ เสื้อ “ชอกอรี (저고리) แต่ต่างกันตรงที่ส่วนปกคอเสื้อนั้นจะไม่ซ้อนทับกัน และจะสวมใส่ทับ “저고리 (ชอกอรี)” มีการนำไหมมาทำเป็นกระดุมกลัดติดกันส่วนใหญ่จะทำแค่สองชิ้นติดส่วนบริเวณหน้าอก แล้วปล่อยชายเสื้อเอาไว้ แม้แต่เดิมจะถูกสวมใส่ได้เฉพาะผู้ชาย แต่ต่อมากลายเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่โดยทั้งชายและหญิง


3.2 “โจกี (조끼-Jokki )” : เป็นเสื้อกั๊กผู้ชาย เสื้อตัวสั้นแขนกุด ใส่สวมทับ“저고리 (ชอกอรี)”


3.3 “แบจา (배자-Baeja)” : เป็นเสื้อกั๊กผู้ชาย เสื้อตัวสั้นแขนกุด เหมือน 조끼 (โจกี)” แต่มีปกคอเสื้อซ้อนกัน และผูกติดกันบริเวณหน้าอก



4. เสื้อคลุมยาว แขนเสื้อยาว
หรือที่เรียกว่า “โพ่ (포)” เป็นเสื้อคลุมที่มีขนาดตัวเสื้อยาวเลยเข่าลงมาจนเกือบถึงข้อเท้า แขนเสื้อยาว และมีคอเสื้อป้าย ซ้อนทับกัน มักนิยมสวมทับเสื้อ “ชอกอรี (저고리)” และกางเกง “พาจี (바지)” แต่ในบางครั้งอย่างเช่น ในฤดูหนาว หรือในโอกาสที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการ จะสวมใส่ๆ เสื้อคลุมยาวหรือ “โพ่ (포)” นี้ซ้อนทับกันสองชั้น สรุปแล้วคนเกาหลีในสมัยก่อนสวมใส่เสื้อผ้าถึง 3-4 ชั้น เพื่อป้องกันความหนาวเย็นซึ่งเสื้อคลุมลักษณะนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกับไปตามลักษณะการตัดเย็บ ลวดลายที่ปักษ์ลงบนตัวเสื้อ และสีของเสื้อ “포-Po (โพ่)” สามารถแบ่งได้ 5 แบบหลักๆตามลักษณะรูปทรงและการตัดเย็บซึ่งได้รับการสวมใส่โดยทั่วไป
4.1 “จุงชีมัค (중치막- Jungchimak)” เป็นเสื้อคลุมยาวมีทั้งแขนเสื้อแบบกว้าง และแบบแคบ (ซึ่งจะพบเห็นแขนเแบบกว้างมากกว่า) และมีการกรีดด้านข้างจากชายเสื้อขึ้นมา ซึ่งทำให้เสื้อคลุมสามารถพลิ้วไหวได้ในขณะที่ผู้สวมใส่เคลื่อนไหว ได้รับการสวมใส่โดยชนชั้นขุนนาง สวมใส่เป็นเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวัน


4.2 “ชังอี หรือ ชังอึย (창의- Changeui)” มีการกรีดเป็นแนวที่ตรงกลางด้านหลังของเสื้อ มีสองประเภทด้วยกันคือ “대창의-Daechangui” มีลักษณะแขนเสื้อที่กว้าง และ “소창의-Sochangui” มีแขนเสื้อที่แคบ


4.3 “ดูรูมากี (두루마기 – Durumagi)” หรือ “จูอี (주의-Juui)” คือเสื้อคลุมที่ตัวเสื้อและแขนที่แคบกว่าแบบอื่นๆ ในสมัยโชซอน ผู้ชายในชนชั้นขุนนางหรือในสังคมชั้นสูงมักจะสวมใส่เป็นเสื้อคลุมอยู่บ้าน และอาจสวมใส่เป็นเสื้อคลุมชั้นในก่อนที่จะสวมใส่เสื้อคลุมเครื่องแบบอีกชั้นหนึ่ง หรืออาจสวมใส่เสื้อคลุมประเภทอื่นๆทับในฤดูหนาวเพื่อให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ขณะที่ผู้ชายในชนชั้นสามัญ หรือไพร่จะสวมใส่เป็นเสื้อคลุมเมื่อออกนอกบ้าน และสำหรับผู้ชายในเชื้อพระวงศ์ องค์ชาย องค์ชายราชทายาทและกษัตริย์ จะถูกสวมใส่ไว้ภายใต้ชุดทางราชการ หรือเสื้อคลุมมังกรของกษัตริย์อีกชั้นหนึ่ง (เรียกว่า "จูอี-주의" ) แต่ต่อมาในสมัยจักรวรรดิเกาหลี พระเจ้าโกจงได้รับคำสั่งให้ “두루마기 (ดูรูมากี)” สวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกชนชั้น และห้ามการสวมใส่เสื้อคลุมอื่นๆ ยกเว้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมขงจื้อที่ต้องสวมใส่เสื้อคลุมเฉพาะในการประกอบพิธี
จูอี (주의-Juui)
 
4.4 “โดโพ่ (도포-Dopo)” เป็นเสื้อคลุมยาว ในสมัยก่อนมักจะสวมใส่ทับ “จูอี” หรือ “ดูรูมากี” อีกชั้นหนึ่งโดยเฉพาะในฤดูหนาว มีลักษณะแขนเสื้อที่กว้าง เป็นเสื้อคลุมที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันโดยขุนนางหรือผู้ชายในสังคมชนชั้นสูงเมื่อออกนอกบ้าน
และต่อมาในสมัยปลายราชวงศ์โชซอน ขุนนางและผู้ชายในสังคมชั้นสูง มักจะสวมใส่เสื้อคลุมแขนกุด หรือแขนสั้นทับ "โดโพ่" อีกชั้นหนึ่งด้วย


4.5 “ชอลริก (철릭 - Cheollik)” เสื้อคลุมที่เป็นชายเสื้อเป็นจีบรอบตัว ซึ่งทำให้ชายเสื้อมีความยืดหยุ่นรองรับการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ได้ดีจึงเหมาะสำหรับการขี่ม้าและยิงธนู ในสมัยราชวงศ์โชซอนได้รับการสวมใส่โดยกษัตริย์ในการทำกิจกรรมดังกล่าว และได้กำหนดเป็นเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ทหารในสมัยนั้น เสื้อคลุมลักษณะนี้นอกจากจะโดดเด่นที่ชายเสื้อเป็นจีบรอบตัวแล้ว ยังมีอีกจุดหนึ่งที่พิเศษก็คือ ภายในเสื้อบริเวณใต้รักแร้มีการบุนวมบางๆไว้ภายใน… ตัวเสื้อคลุม “Cheollik (ชอลริก)” นี้มีตัวเสื้อที่ทั้งแบบยาวและสั้นแตกต่างกันหลากหลายลักษณะในบางครั้งอาจพบเสื้อคลุม “ชอลริก (Cheollik )” ที่สามารถถอดแขนเสื้อออกได้ ซึ่งส่วนที่ถอดออกนั้นสามารถนำมาทำหรือใช้เป็นผ้าพันแผลได้


4.6 “บัง-รยองโพ (방령포-Bangryeongpo)” เป็นเสื้อคลุมที่มีคอเสื้อเป็นรูปสี่เหลี่ยม ได้รับอิทธิพลมาจากราชวงศ์หมิงของจีน ได้รับความนิยมได้รับการสวมใส่ตั้งแต่ช่วงต้นรัชสมัยของราชวงศ์โชซอน แต่หลังจากช่วงสงครามอิมจิน (สงครามในยุคของแม่ทัพ "อี ซุน-ชิน" จากการรุกรานของญี่ปุ่น ประมาณ ค.ศ.1598) เป็นต้นมา ก็มีการสวมใส่ลดลง


5. เสื้อคลุมยาว แขนเสื้อสั้นหรือแขนกุด
เป็นเสื้อคลุมที่มีขนาดตัวเสื้อยาวเลยเข่าลงมาจนเกือบถึงข้อเท้า มีคอเสื้อที่แตกต่างกันไปตามลักษณะการออกแบบ เริ่มมีการนำมาสวมใส่กันในสมัยปลายราชวงศ์โชซอน โดยขุนนางและผู้ชายในสังคมชั้นสูง และมักจะสวมใส่ทับเสื้อคลุมยาวอย่าง “dopo” มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันดังนี้
5.1 “ดับโฮ (답호- Dapho)” : เป็นเสื้อตัวยาว แขนสั้น มีปกคอเสื้อซ้อนกัน และมี “옷고름 –โอซโกรึม” ไว้ผูกติดกันบริเวณหน้าอก


 5.2 “จอนบก (전복-Jeonbok)” : เป็นเสื้อตัวยาว แขนกุด แต่ปกคอเสื้อไม่ทับซ้อนกัน ยึดติดตัวเสื้อด้วยปมที่ทำไว้คล้ายกับกระดุมจำนวนสองปมเฉพาะด้านบน และปล่อยชายเสื้อให้ยาวลงมาโดยไม่ยึดติดกันเพื่อง่ายต่อการเคลื่อนไหว ซึ่งแต่เดิมได้รับการสวมใส่โดยบุคลากรทางทหารเท่านั้น


5.3 “คแว-จา (쾌자-Gweja)” คล้ายกับ “전복-Jeonbok (จอนบก)” แต่ต่างกันที่สัดส่วนของเสื้อ ทั้งความกว้างของไหล่ และความกว้างของชายเสื้อด้านล่าง “쾌자Gweja- (คแว-จา)”จะแคบกว่า


5.4 “บัง-รยอง-อี (방령의- Bangryeongui)” เป็นเสื้อคลุมยาวที่มีคอเสื้อเป็นรูปสี่เหลี่ยม คล้ายกับ “บัง-รยองโพ (방령포-Bangryeong Po)” แต่เป็นแบบแขนสั้นและแขนกุดที่สวมใส่ทับ เสื้อคลุมในกลุ่มของ "โพ่ (포-Po)"



----------------------------
แปลและเรียบเรียง: KoreaTown@AsianCastle
แหล่งอ้างอิง:
http://en.wikipedia.org/wiki/Hanbok
http://en.wikipedia.org/wiki/Joseon
http://www.ksgoodnews.kr/sub_read.html?uid=45140
http://raynhanbok.tistory.com/
http://www.mbcart.com/inquire/search/clothes/index.jsp?reqPageNo=9
http://blog.daum.net/_blog/photoList.do?blogid=0EcmJ&categoryid=354881&totalcnt=606
http://koreainews.kr/ArticleView.asp?intNum=9497&ASection=001004
http://www.anakii.net/homes/minsok/detail/clothes-man.htm
https://thetalkingcupboard.wordpress.com/2014/09/29/traditional-korean-clothing-part-2/

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.