“นางวัง” แห่งราชวงศ์โชซอน ตอนที่ 2
เจาะลึก “นางวัง” แห่งราชวงศ์โชซอน
( ตอนที่ 2 ตอนจบ)
เนื่องจากเป็นข้อหัวที่ค่อนข้างยาวมากๆๆๆๆๆๆ เลยทีเดียว จึงขออนุญาตแบ่งเป็น 2 ตอนนะคะ โดยตอนที่ 2 นี้จะต่อจากตอนที่ 1 เลยค่ะ ซึ่งยังอยู่ในหัวข้อ “ตำแหน่งและชื่อเรียกต่างๆ ของนางวัง” และพูดไปถึงชื่อเรียกของสตรีที่เข้ามาทำงานในวังไปแล้ว 2 ชื่อด้วยกัน คือ 1. นางวังฝึกหัด หรือ “แซงกักชี (생각시)” และ 2.ผู้ช่วยนางวัง หรือ “นาอิน (나인)” มาต่อกันที่ลำดับที่ 3 กันเลยนะคะเนื้อหาต่อเนื่องจาก >> เจาะลึกตำแหน่ง “นางวัง” แห่งราชวงศ์โชซอน (ตอนที่ 1)
3. นางวัง
ผู้ช่วยนางวังที่ผ่านการสอบ “ออ-ซอน-คยอง-ยอน (어선경연)” จะต้องเข้าร่วมพิธีการถวายสัตย์ปฏิญาณที่เรียกว่า พิธี “นาอินชิก (나인식)” เพื่อจะได้รับตำแหน่งและถูกแต่งตั้งเป็นนางวังอย่างเต็มตัวซึ่งในสมัยพระเจ้าแทโจ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โชซอน ได้ทรงกำหนดตำแหน่งของนางวังไว้ทั้งหมด 9 ขั้นด้วยกัน โดยขั้น 1 ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดและลดหลั่นลงไปตามลำดับ
แต่ต่อมาในสมัยพระเจ้าซองจง กษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์โชซอน พระองค์ได้ทรงกำหนดให้เหลือเพียงแค่ 5 ขั้น โดยตัดขั้น 1-4 ออก และให้ถือว่าขั้น 5 เป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดของนางวัง และได้ทำการจดบันทึกและจัดทำข้อบัญญัติของนางวังในตำแหน่งต่างๆ ลงไปใน กฎหมายแห่งราชวงศ์โชซอน ที่ชื่อว่า “คยองกุงแดจอน (경국대전)” และใช้ข้อกำหนดนั้นเรื่อยมาจนสิ้นราชวงศ์
“ดังนั้นตำแหน่งขั้นของนางวังเราจะขอยึดตามหนังสือกฎหมายแห่งราชวงศ์โชซอนเป็นหลักนะคะ”
ลำดับขั้นที่ 5 ชั้นเอก (정5품)
ซังกุง (상궁) : ซังกุงเป็นตำแหน่งที่สูงสุดของนางวัง ซึ่งผู้ที่จะได้รับตำแหน่งนี้นั้นจะต้องภายในเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งดังนี้- ประการที่หนึ่ง คือเป็นผู้ที่มีผลงานอันโดดเด่น มีประสบการณ์ สั่งสมบารมี มีพวกพ้อง ได้รับการสนับสนุนจากซังกุงอาวุโส มีอำนาจและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งต้องใช้เวลาและการปฏิบัติงานที่เหนื่อยยาก เรียกว่า “ซังกุงทั่วไป” มีหน้าที่ดูแลบังคับบัญชานางวังตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของซังกุงแต่ละท่านจะถูกกำหนดโดยนางวังในตำแหน่ง “ซังกี (상기)” และ “จอนออน (전언)” แม้ตำแหน่งขั้นจะต่ำกว่าซังกุง แต่นางวังในทั้งสองตำแหน่งนี้มีหน้าที่ดูและรักษากฎระเบียบภายในวังและถ่ายทอดคำสั่งจากกษัตริย์
- ประการที่สองที่จะทำให้ขึ้นเป็นซังกุงได้อีกวิธีหนึ่งก็คือ การได้รับการแต่งตั้งพิเศษจากพระมเหสี เมื่อนางวังท่านนั้นได้ร่วมหลับนอนกับกษัตริย์องค์ปัจจุบัน เรียกว่า “ซังกุงพิเศษ” ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นสนม แต่จะมีสถานะสูงกว่าซังกุงทั่วไป เพราะถือเป็นผู้ที่ได้รับความชื่นชอบจากองค์กษัตริย์
เมื่อซังกุงทั่วไปได้รับหน้าที่ให้ประจำการที่ไหนแล้วก็จะมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไปอีกตามหน้าที่หรือสถานที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล ดังนี้
- เชโจซังกุง (제조상궁) หรือ ซังกุงปกครอง หรืออาจรู้จักกันอีกชื่อหนึ่งก็คือ “คึนบังซังกุง (큰방상궁)” เป็นซังกุงที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและปกครองสตรีในราชสำนักฝ่ายในทั้งหมด ยกเว้นพระสนมและ "ซึงอึนซังกุง (승은상궁)" หรือซังกุงพิเศษ โดยซังกุงปกครองนี้จะทำหน้าที่ภายใต้การควบคุมดูแลของพระมเหสี และพระพันปี นั่นเอง
- บูเจโจซังกุง (부제조상궁) หรือ รองซังกุงปกครอง หรืออาจรู้จักกันอีกชื่อหนึ่งก็คือ "อาแรซโกซังกุง (아랫고상궁)" ทำหน้าที่ดูแลจัดการ จัดเก็บเครื่องประดับ ของมีค่า อัญมณี และผ้าไหมในทรัพย์สินส่วนพระองค์
- จีมิลซังกุง (지밀상궁) หรือ ซังกุงส่วนพระองค์ หรือ ซังกุงรับบัญชา หรืออาจรู้จักกันอีกชื่อหนึ่งก็คือ "แทรยองซังกุง (대령상궁)" ทำหน้าที่ดูแลรับใช้ส่วนพระองค์ให้กับองค์กษัตริย์ พระมเหสี พระพันปีและพระสนม จะรับคำสั่งโดยตรงจากผู้ที่ตนรับใช้อยู่เป็นหลัก ซึ่งถือเป็นมือเป็นเท้าให้กับนายของตนก็ว่าได้
จีมิลซังกุง (지밀상궁) หรือ ซังกุงส่วนพระองค์ หรือ ซังกุงรับบัญชา จากเรื่อง Hwajung (MBC, 2015) |
- โบโมซังกุง (보모상궁) หรือ ซังกุงพระพี่เลี้ยง เป็นพี่เลี้ยงคอยทำหน้าที่ดูแลองค์หญิง หรือองค์ชายตั้งแต่ยังทรงพระเยาวช์ โดยองค์หญิงและองค์ชายจะเรียกพวกเธอว่า "อาจี (아지)" และถ้าในกรณีที่องค์ชายท่านใดได้ขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมานั้น ซังกุงพระพี่เลี้ยง หรือ "โบโมซังกุง (보모상궁)" ที่ดูแลจะถูกยกสถานะเป็น "พงโบบูอิน (봉보부인)" ซึ่งจะมีตำแหน่งยศเทียบเท่าสะไภ้หลวงเลยทีเดียว
โบโมซังกุง (보모상궁) หรือ ซังกุงพระพี่เลี้ยงในองค์หญิงจองมยอง จากเรื่อง Hwajung (MBC, 2015) |
- ซีนยอซังกุง (시녀상궁) หรือ ซังกุงรับใช้ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย “จีมิลซังกุง (지밀상궁)” หรือ ซังกุงรับบัญชาอีกทอดหนึ่ง
- ซึงอึนซังกุง (승은상궁) หรือ ซังกุงพิเศษ บางครั้งถูกเรียกว่า นางในถวายตัว เป็นสตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กษัตริย์ โดยที่พวกเธอนั้นอาจเป็นนางวัง ผู้ช่วยนางวัง หรืออาจเป็นสตรีที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งยศใดๆเลยก็ตาม แต่ได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งและได้เข้าร่วมหลับนานกับองค์กษัตริย์ สตรีผู้นั้นก็จะถูกแต่งตั้งเป็นซังกุงพิเศษโดยคำสั่งจากพระมเหสี ดังนั้นสตรีที่ได้รับแต่งตั้งเป็น "ซึงอึนซังกุง (승은상궁)" จะมีอายุน้อยกว่าซังกุงทั่วไปที่มีอายุมากและแก่ชรา ซังกุงพิเศษจะได้รับพระราชทานให้สวมใส่เสื้อคลุมที่เรียกว่า "ทังอี (당의)" เพื่อแบ่งแยกถึงความแตกต่างจากซังกุงทั่วไป นอกจากนี้ยังได้รับข้อยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติงานเหมือนซังกุงในตำแหน่งอื่นๆ อีกด้วย ทำให้ซังกุงพิเศษโดยส่วนมากถูกคุมคามจากซังกุงอาวุโสในตำแหน่งอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อองค์กษัตริย์ไม่ได้ให้ความสนใจ หรือไม่ได้มาหาพวกเธอ แต่หากโชคดีสามารถตั้งครรภ์ให้กับองค์กษัตริย์ได้จะถูกยกระดับและแต่งตั้งเป็นพระสนมในตำแหน่ง "ซุกวอน (숙원)" ทันที
ซึงอึนซังกุง (승은상궁) หรือ ซังกุงพิเศษ (นางในถวายตัว) ภายใต้เสื้อคลุมที่เรียกว่า "ทังอี (당의)" สีม่วงอมแดง |
- กัมชัลซังกุง (감찰상궁) หรือ ซังกุงตรวจการ ทำหน้าที่ดูแลบังคับใช้กฎระเบียบ ตรวจสอบ และดำเนินการลงโทษสำหรับนางวังหรือสตรีในวังที่กระทำความผิด รวมไปถึงให้รางวัลสำหรับนางวังที่มีผลงานโดดเด่นด้วยเช่นกัน และเพราะว่าซังกุงตรวจการที่มีอำนาจที่จะตัดสินลงโทษ หรือมอบความดีความชอบให้ผู้ใดก็ได้นั้น ทำให้เป็นที่เกรงกลัวของสตรีในวังเป็นอย่างมาก
กัมชัลซังกุง (감찰상궁) หรือ ซังกุงตรวจการ ทำการถอดพระยศ |
ซังอี (상의): หัวหน้านางวังฝ่ายพิธีการ ทำหน้าที่ดูแลขอบเขตงานที่เกี่ยวกับมารยาทการปฏิบัติตัวในวัง และทำงานร่วมกับฝ่ายซังกุงส่วนพระองค์ นอกจากนี้ยังดูแลรับผิดชอบการประกอบพิธีกรรม งานสังสรรค์รื่นเริงงานพิธีการอื่นๆ ที่จัดขึ้นในวัง และงานราชพิธีนอกวัง โดยมีนางวังในตำแหน่ง "จอนบิน (전빈)" และ "จอนชาน (전찬)" อยู่ภายใต้การดูแล
* ในละครที่แปลเป็นภาษาไทยส่วนใหญ่เรียกนางวังในตำแหน่ง “ซังอี (상의)” ว่า ซังกุงฝ่ายพิธีการ
ลำดับขั้นที่ 5 ชั้นโท (종5품)
ซังบก (상복): หัวหน้านางวังฝ่ายเย็บปัก ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานเย็บปักฉลองพระองค์ภายในห้องเย็บปักที่เรียกว่า “ซูบัง (수방)” โดยมีนางวังในตำแหน่ง "จอนอี (전의)" และ "จอนชิก (전식)" อยู่ภายใต้การดูแล* ในละครที่แปลเป็นภาษาไทยส่วนใหญ่เรียกนางวังในตำแหน่ง “ซังบก (상복)” ว่า ซังกุงห้องเย็บปัก
ซังชิก (상식): หัวหน้านางวังฝ่ายห้องเครื่อง ทำหน้าที่ดูแลจัดเตรียมอาหารเครื่องเสวย ทั้งอาหารจานหลักอาหารว่าง เครื่องดื่มและเครื่องเคียงต่างๆ ซึ่งจะกำกับดูแลงานทั้งห้องเครื่องเสวย (โซจูบัง - 소주방) และห้องเครื่องว่าง (แซงกวาบัง - 생과방) โดยมีนางวังในตำแหน่ง "จอนซอน (전선)" และ "จอนยัก (전약)" อยู่ภายใต้การดูแล
* ในละครที่แปลเป็นภาษาไทยส่วนใหญ่เรียกนางวังในตำแหน่ง “ซังชิก (상식)” ว่า ซังกุงห้องเครื่อง
ลำดับขั้นที่ 6 ชั้นเอก (정6품)
ซังชิม (상침): หัวหน้านางวังที่ทำหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกในตำหนักต่างๆ เช่น ดูแลเรื่องความสะอาดในตำหนัก จัดเตรียมฉลองพระองค์ในแต่ละวัน การยกเครื่องเสวย และจุดเทียนหรือโคมไฟตามตำหนักต่างๆ นอกจากนี้หากมีงานราชพิธีต่างๆ จะดำเนินงานด้านการจัดเตรียมสถานที่ โดยมีนางวังในตำแหน่ง "จอนซอล (전설)" และ "จอนดึง (전등)" อยู่ภายใต้การดูแลซังกง (상공): หัวหน้านางวังรับใช้ทั่วไป ทำหน้าที่กำกับดูแลและฝึกอบรมนางวังรับใช้ระดับล่าง และดูแลควบคุมงานด้านการตัดเย็บและทอผ้า โดยมีนางวังในตำแหน่ง "จอนเจ (전제)" และ ”จอนแช (전채)" อยู่ภายใต้การดูแล
ลำดับขั้นที่ 6 ชั้นโท (종6품)
ซังจอง (상정): รองซังกุงตรวจการ ทำหน้าที่ดูแลกฎระเบียบวินัยของสตรีที่ทำงานในวังทั้งหมดภายใต้การควบคุมของ "กัมชัลซังกุง (감찰상궁) หรือ ซังกุงตรวจการ" ซึ่งดูแลให้นางในพระราชวังทั้งหมดปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ และลงโทษสำหรับผู้ที่ละเมิดหรือกระทำความผิดซู-กยู (수규): นางวังในตำหนักตะวังวันออกหรือตำหนักที่ประทับองค์ชายรัชทายาทที่ถือว่ามีอำนาจบังคับใช้กฎระเบียบวินัยในหมู่สตรีที่ทำงานในตำหนักตะวังวันออกได้ทั้งหมด นอกจากนี้เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการจดบันทึกและเอกสารต่างๆในตำหนัก
ซูชิค (수칙): นางวังในตำหนักตะวังวันออกหรือตำหนักที่ประทับองค์ชายรัชทายาทมีอำนาจรองจาก "ซู-กยู (수규)"
ลำดับขั้นที่ 7 ชั้นเอก (정7품)
จอนบิน (전빈): นางวังที่ทำหน้าที่ดูแลจัดงานบันเทิง ดูแลควบคุมจัดซ้อมนางรำ หรือจัดหางานแสดงเข้ามาแสดงในงานราชพิธี หรืองานสังสรรค์รื่นเริงต่างๆจอนอี (전의): นางวังที่ทำหน้าที่จัดเตรียมและดูแลเรื่องการซ่อมแซมเสื้อผ้าฉลองพระองค์ เครื่องประดับ รวมถึงจัดเตรียมผมปลอม และเครื่องประดับทรงผมให้กับพระมเหสี พระสนม องค์หญิง และซังกุงพิเศษสำหรับงานราชพิธีพิเศษต่างๆ
จอนซอน (전선): นางวังที่ทำหน้าที่จัดเตียมสำรับอาหารเครื่องเสวยและเครื่องเคียงต่างๆ
ลำดับขั้นที่ 7 ชั้นโท (종7품)
จอนซอล (전설): นางวังที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการทำความสะอาดในตำหนักต่างๆ และยังทำหน้าที่ในการดูแลและจัดเตรียมสถานที่สำหรับงานราชพิธี หรือในงานโอกาสพิเศษต่างๆจอนเจ (전제): นางวังที่ทำหน้าที่ดูแลงานตัดเย็บ ฉลองพระองค์ในห้องตัดเย็บ หรือที่เรียกว่า “ชิมบัง (침방 나인)“
จอนเจ (전제) นางวังตัดเย็บฉลองพระองค์ ภายในส่วนงานที่เรียกว่า “ชิมบัง (침방 나인)“ หรือ ห้องตัดเย็บ |
จอนออน (전언): นางวังที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดคำสั่ง หรือแจ้งข่าวสาร รวมถึงประกาศต่างๆ จากในพระราชวังให้กับประชาชนโดยทั่ว หรือบุคคลที่ต้องการติดต่อด้วยได้รับทราบ
จังชาน (장찬): นางวังที่ทำหน้าที่ดูแลจัดเตียมอาหารและดูแลจัดการบัญชีรายรับรายจ่ายภายในตำหนักตะวังวันออกหรือตำหนักที่ประทับองค์ชายรัชทายาท
จังจอง (장정): นางวังที่ทำหน้าที่ดูแลการจัดเก็บเอกสารและดูแลรักษาความปลอดภัยภายในตำหนักตะวังวันออกหรือตำหนักที่ประทับองค์ชายรัชทายาท
ลำดับขั้นที่ 8 ชั้นเอก (정8품)
จอนชาน (전찬): นางวังที่ทำงานภายใต้คำสั่งจาก “จอนบิน (전빈)” และ ซังอี (상의) หัวหน้านางวังฝ่ายพิธีการ ซึ่งจะคอยทำหน้าที่เสิร์ฟอาหาร คอยรับใช้ และให้บริการผู้ที่มาเป็นแขกในระหว่างงานราชพิธีจอนชิก (전식): นางวังที่ทำหน้าที่ดูเรื่องการสระผม หวีผม และแต่งหน้าให้กับกษัตริย์ พระมเหสี และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งถือเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตพิเศษให้จับสัมผัสกับผม ใบหน้าและศีรษะของเชื้อพระวงศ์ได้ (นางวังในตำแหน่งอื่นๆ ไม่มีสิทธิ์ หากกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการหมิ่นพระเกียรติอย่างสูง)
จอนชิก (전식) นางวังที่ทำหน้าที่ดูเรื่องการสระผม หวีผม แต่งประดับทรงผม |
จอนยัก (전약): นางวังที่ทำงานภายในห้องเครื่อง แต่จะทำหน้าที่ดูแลเรื่องยาบำรุง อาหารบำรุงสุขภาพ รวมถึงดูแลเรื่องการปรุงอาหารที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อเชื้อพระวงศ์ ซึ่งจะทำงานร่วมกับหมอจากสำนักหมอหลวง หรือที่เรียกว่า “แนอีวอน (내의원)”
ลำดับขั้นที่ 8 ชั้นโท (종8품)
จอนดึง (전등): นางวังที่ทำงานในฝ่าย “ทึงชกบัง (등촉방)” ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลเรื่องการจุดไฟ จุดโคมเพื่อให้แสงสว่างตามที่ต่างๆ ในวังจอนแช (전채): นางวังที่ทำหน้าที่ทอผ้า ย้อมผ้าเพื่อนำไปใช้ในงานส่วนต่างๆ ในวัง เช่น ผ้าที่นำไปทำผ้าห่ม ปลอกหมอน หรือแม้กระทั่งฉลองพระองค์ขององค์กษัตริย์
จอนจอง (전정): นางวังที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย “จอนออน (전언)” นางวังที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดคำสั่ง หรือแจ้งข่าวสาร รวมถึงประกาศต่างๆ จากในพระราชวังให้กับประชาชนโดยทั่ว หรือบุคคลที่ต้องการติดต่อด้วยได้รับทราบ
จังซอ (장서): นางวังที่ทำหน้าที่ดูแลจัดเรียงหนังสือ ติดตามหนังสือที่ถูกนำออกจากหอสมุดภายในตำหนักตะวังวันออกหรือตำหนักที่ประทับองค์ชายรัชทายาท ทำหน้าที่เหมือนกับบรรณารักษ์
จังบก (장봉): นางวังที่รับหน้าที่ตัดเย็บ และงานเย็กปักซึ่งเป็นงานเล็กๆน้อยๆ ภายในตำหนักตะวังวันออกหรือตำหนักที่ประทับองค์ชายรัชทายาท
ลำดับขั้นที่ 9 ชั้นเอก (정9품)
จูกุง (주궁), จูซัง (주상) และ จูกัก (주각) เป็นนางวังที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในคณะดนตรีของราชสำนัก บางคนที่เป็นนักดนตรี หรือเป็นนางรำในคณะดนตรี ซึ่งจะขึ้นแสดงในงานราชพิธีประจำปี หรือแม้แต่งานสังสรรค์รื่นเริงส่วนพระองค์ภายในวังลำดับขั้นที่ 9 ชั้นโท (종9품)
จูบยอนจิง (주변징), จูจิง (주징), จูอู (주우) และ จูบยอนกุง (주변궁) เป็นนางวังที่คอยช่วยงานงานต่างๆ ในคณะดนตรีของราชสำนักจังจัง (장장): นางวังที่ทำหน้าที่กำหนดทรัพย์สิน และจำนวนผ้าไหมไปตามตำหนักเล็กๆ ภายในตำหนักตะวังวันออกหรือตำหนักที่ประทับองค์ชายรัชทายาท
จังซิก (장식): นางวังที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องวัตถุดิบ อาหารสด และเครื่องปรุงต่างๆที่ใช้ในครัว ภายในตำหนักตะวังวันออกหรือตำหนักที่ประทับองค์ชายรัชทายาท
-----
กุง-นยอ (궁녀) หรือ สตรีที่ทำงานภายในราชสำนักฝ่ายในนั้น ยังรวมถึงสตรีที่ทำงานประเภทอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในตำแหน่งที่จัดอันดับข้างต้น ได้แก่- อึย-นยอ (의녀) หรือ แพทย์หญิง ในสมัยราชวงศ์โชซอนสตรีที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษา สามารถเข้ามาเป็นแพทย์ โดยจะทำงานร่วมกับแพทย์หลวงจากสำนักหมอหลวง “แนอีวอน (내의원)” ได้เพื่อขจัดข้อกังหาในเรื่องการให้แพทย์หลวงที่เป็นชายถูกเนื้อต้องตัวพระมเหสี พระสนม และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นสตรี
- มูซูรี (무수리) ทาสรับใช้ที่มียศตำแหน่งต่ำที่สุดในราชสำนัก (ต่ำกว่า “นาอิน (나인)”) งานหลักของพวกเธอก็คือการหาบน้ำ เติมน้ำในบ่อน้ำต่างๆภายในพระราชวัง รวมไปถึงงานด้านการทำความสะอาด ดูแลเตาเผาขยะ และแบกฟืนเพื่อนำไปใช้ในส่วนต่างๆ ภายในวัง บางครั้งถูกเรียกว่า "ซูซา (水賜) เป็นภาษาจีนที่แปลว่า ผู้ให้น้ำ " หรือ ซูซายี่ (水賜伊) ที่แปลว่า สตรีที่คอยดูแลการให้น้ำ (** สำหรับทาสในตำแหน่งนี้ที่เป็นผู้ชายจะถูกเรียกว่า "พาจี (巴只)" )
- กักชีมี (각심이) หญิงรับใช้ส่วนตัวของซังกุงหรือนางวังชั้นสูง ทำหน้าที่ดูแลที่พัก ทำอาหาร ตัดเย็บและงานต่างๆที่ได้รับมอบหมายจากซังกุงในแต่ละวัน โดยได้รับเบื้ยเลี้ยงจากราชสำนัก
-------------------------
แปลและเรียบเรียง: KoreaTown@AsianCastle
แหล่งอ้างอิง : www.hancinema.net , en.wikipedia.org,
thesaurus.history.go.kr , glossary.aks.ac.kr
Post a Comment