“นางวัง” แห่งราชวงศ์โชซอน ตอนที่ 1
เจาะลึก “นางวัง” แห่งราชวงศ์โชซอน
( ตอนที่ 1 )
เนื่องจากยังมีคอละครประวัติศาสตร์เกาหลีหรือบุคคลทั่วไปยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ซังกุง” ว่าหมายถึงนางวังที่ทำงานในวังทั้งหมด แต่ไม่ใช่นะคะ “ซังกุง” นั้นเป็นแค่หนึ่งในตำแหน่งของนางกำนัล หรือนางวังที่ทำงานในวังเท่านั้น ยังมีตำแหน่งยศสำหรับนางวังอีกหลายตำแหน่งด้วยกัน ดังนั้นบทความนี้จึงจะพูดถึงนางวังทั้งหมดที่ทำงานรับใช้ราชสำนักในสมัยก่อน โดยจะยึดในช่วงของราชวงศ์โชซอนเป็นหลักนะคะนางวัง นางกำนัล หรือนางข้าหลวง ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรพวกเธอก็คือสตรีที่ทำงานในวังหลวง ซึ่งมีชื่อเรียกสตรีเหล่านี้เป็นภาษาเกาหลีว่า “กุง-นยอ (궁녀)”
ความหมายของคำว่า “กุง-นยอ (궁녀)”
กุง-นยอ (궁녀) มีความหมายว่า "ผู้หญิงแห่งพระราชวัง" มาจากคำว่า "กุง (궁) ที่แปลว่า พระราชวัง" และ "นยอ (녀) ที่แปลว่า ผู้หญิง สตรี"กุง-นยอ (궁녀) นั้นเป็นคำเรียกสั้นๆ มีรากศัพท์มาจากคำว่า "กุงจุง ยอ-กวาน (궁중 여관)" ที่แปลว่า เจ้าหน้าที่ราชสำนักสตรีที่ทำงานในพระราชวัง
กุง-นยอ (궁녀) จึงหมายถึง นางวัง นางกำนัล นางข้าหลวง สตรีที่ได้รับการอนุญาตให้เข้ามาทำงานอยู่ในพระราชวัง ซึ่งนอกจากจะคอยทำหน้าที่ดูแลรับใช้พระราชาและพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ แล้ว กุงนยอยังหมายรวมไปถึงสตรีที่ทำงานในด้านอื่น หรือตำแหน่งอื่นในพระราชวังทั้งหมด แม้แต่นางวังที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งยศใดๆ อย่าง "นาอิน (나인)"
ประวัติความเป็นมา
กุงนยอ เป็นคำเรียกของสตรีที่ทำงานในวัง ซึ่งมีปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ครั้งแรกตั้งแต่ต้นราชวงศ์โครยอ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้นไม่ได้มีการระบุรายละเอียดที่ชัดเจนมากนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของนางวังในสมัยนั้น ไม่มีแม้กระทั่งกฏระเบียบการรับหญิงสาวเข้ามาเป็นกุงนยอเพื่อเข้ามาทำงานในราชสำนักว่ามีขั้นตอนอย่างไร แต่ในปีที่ 22 แห่งการครองราชย์ของพระเจ้าอีจงแห่งโครยอ ได้มีการแบ่งนางวังไว้ 4 ตำแหน่งด้วยกัน (ตามที่พบในหลักฐานทางประวัติศาสตร์) คือ- ซังกุง (상궁) ทำหน้าที่จัดการเรื่องต่างในพระราชวัง
- ซังชิม (상침) ทำหน้าที่จัดการเครื่องนอน เครื่องบรรทม และงานตัดเย็บ
- ซังซิก (상식) ทำหน้าที่ดูแลและจัดการเรื่องอาหาร
- ยออัค (여악) หรือนักดนตรีหญิง สตรีที่ทำงานในคณะดนตรีของราชสำนัก
- แน-กวาน (내관) นางวังที่ทำหน้าที่ดูแลและปฏิบัติงานในพระราชสำนักชั้นใน
- กุง-กวาน (궁관) นางวังที่ทำหน้าที่ดูแลและปฏิบัติงานส่วนต่างๆภายในพระราชวัง
หลักการคัดเลือกหญิงสาว เข้ามาเป็น “กุง-นยอ (궁녀)”
โดยทั่วไปสตรีที่เข้ามาเป็น กุงนยอ หรือ นางวังในวังนั้นจะมาจากหญิงสาวในชนชั้นสามัญ หรือ ซางมิน (상민) และทาส ซึ่งจะเป็นทาสที่อยู่ภายใต้การปกครองของ ซาแดบู (사대부) หรือ ข้าราชการชั้นสูง ดังนั้นมักจะเห็นทาสที่นำลูกสาวไปฝากผู้ที่มีตำแหน่งหรือยศชั้นสูงให้รับบุตรสาวของตน เพื่อฝากเข้าไปเป็นนางวังในวังตามละครหรือซีรีย์ประวัติศาสตร์ของเกาหลีอยู่เป็นประจำเด็กสาวที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาต้องผ่านการอบรมเรียนรู้งาน ช่วยงานต่างๆ รวมไปถึงเรียนรู้กฏระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในวัง จะมีอายุระหว่าง 4-6 ปีแต่จะต้องไม่เกิน 13 ปี ซึ่งในระหว่างนี้จะถูกเรียกว่า “แซงกักชี (생각시)” หรือ นางวังฝึกหัด นั่นเอง
ในขณะที่เด็กสาวที่จะเข้ามาเป็นนางวังทำงานดูแลรับใช้ส่วนพระองค์สำหรับองค์กษัตริย์และองค์มเหสีนั้น จะมีกฏเกณฑ์การคัดเลือกที่เข้มงวดเป็นพิเศษกว่าเด็กสาวที่จะเข้ามาเป็นนางวังทั่วๆไป ผู้ช่วยนางวังส่วนพระองค์ หรือที่เรียกว่า "จีมิลนาอิน (지밀나인)" จะถูกคัดเลือกเข้ามาโดยซังกุงระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการติดต่อกันกับครอบครัวของเด็กไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว
ผู้ช่วยนางวัง, นางวัง และขันทีส่วนพระองค์ เรียกส่วนงานนี้ว่า "จีมิล (지밀)" |
เด็กสาวที่จะเข้ามาเป็นนางวังนั้นโดยส่วนใหญ่จะอายุประมาณ 12-13 ปี แต่ผู้ที่จะเข้ามาเป็นนางวังส่วนพระองค์ หรือ จีมิลนาอิน นั้นจะต้องเข้ามาตั้งแต่อายุยังน้อย คือตั้งแต่ 4 – 8 ปี ส่วนเด็กสาวที่จะเข้ามาเป็นนางวังที่ทำงานในเฉพาะด้านอย่างงานตัดเย็บผ้าและงานเย็บปักถักร้อยนั่นจะถูกคัดเลือกมาตั้งแต่อายุ 6 – 13 ปี
ตำแหน่งและชื่อเรียกต่างๆ ของนางวัง
1. นางวังฝึกหัด หรือ “แซงกักชี (생각시)”
นางวังฝึกหัด หรือ “แซงกักชี (생각시)” คือชื่อเรียกเด็กสาวที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาเป็นนางวังซึ่งอยู่ในระหว่างการอบรมเรียนรู้งาน ฝึกฝนและช่วยงานต่างๆตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งแบ่งการเรียนเป็น 2 ระดับด้วยกัน คือ- จุงอิน (중인) คราสเรียนสำหรับนางวังฝึดหัดระดับสูง เป็นการเรียนการสอนสำหรับนางวังฝึกหัดที่จะเข้ามาเป็น นางวังส่วนพระองค์ นางวังห้องตัดเย็บและนางวังที่ดูแลงานเย็บปักถักร้อย
- ชอนมิน (천민) คราสเรียนสำหรับนางวังฝึดหัดชั้นล่าง สำหรับเด็กสาวที่มาจากสถานะทาสที่ไม่มีความรู้ และความสามารถใดๆ
2. ผู้ช่วยนางวัง หรือ “นาอิน (나인)”
ผู้ช่วยนางวัง หรือ “นาอิน (나인)” เป็นชื่อเรียกตำแหน่งผู้ช่วยนางวังที่ยังไม่มียศตำแหน่ง แต่ก็มักจะถูกเรียกแบ่งไปตามหน้าที่ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ส่วนหลักด้วยกันก็คือ- จีมิลนาอิน (지밀나인) หรือ ผู้ช่วยนางวังส่วนพระองค์ ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือ “จีมิลซังกุง (지밀상궁)” หรือ ซังกุงส่วนพระองค์ ที่ดูแลรับใช้กษัตริย์และพระมเหสี
- ชิมบัง นาอิน (침방 나인) หรือ ผู้ช่วยนางวังห้องตัดเย็บ ทำหน้าที่ตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และจัดทำจัดหาเครื่องประดับให้กับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์
- ซูบังนาอิน (수방 나인) หรือ ผู้ช่วยนางวังห้องเย็บปัก ทำหน้าที่ปักลายลงบนเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและงานปักร้อยที่ใช้ประดับพระราชวัง
- แซงกวาบัง นาอิน (생과방 나인) หรือ ผู้ช่วยนางวังห้องเครื่องว่าง ทำหน้าที่ดูแลจัดเตรียมเครื่องว่าง ซึ่งจะดูแลตั้งแต่การจัดทำขนม ของว่าง จัดเตรียมผลไม้ แกะสลักผลไม้ อบขนม ชงชา
- โซจูบัง นาอิน (소주방 나인) หรือ ผู้ช่วยนางวังห้องเครื่อง แบ่งออกเป็น 2 หน่วยงานย่อยด้วยกันคือ
- แนโซจูบัง (내소주방) เป็นส่วนงานที่ดูแลเครื่องเสวยในวัง นางวังในส่วนงานนี้จะทำหน้าที่ดูแลจัดเตรียมเครื่องเสวยในแต่ละวัน
- อึยโซจูบัง (의소주방) เป็นส่วนงานที่ดูแลจัดเตรียมเครื่องเสวย สำหรับงานจัดเลี้ยงต่างๆ ซึ่งจะได้พ่อครัวพิเศษที่เรียกว่า “แท-รยอง ซุกซู (대령 숙수)” มาทำหน้าที่ดูแลเรื่องอาหารในส่วนนี้ด้วย
- เซดับบัง นาอิน (세답방 나인) หรือ ผู้ช่วยนางวังห้องซักรีด
- เซซูกัน นาอิน (세수간 나인) ผู้ช่วยนางวังที่ดูแลเรื่องการอาบน้ำชำระกายของกษัตริย์และมเหสี รวมไปถึงดูแลห้องชำระกาย และอุกรณ์ที่ใช้ในการขับถ่ายต่างๆ
- ทวีซอนกัน นาอิน (퇴선간 나인) ผู้ช่วยนางวังที่ทำหน้าที่ดูแลและจัดเตรียมสำรับอาหาร เครื่องเสวย
- โพกีชอ นาอิน (복이처 나인) ผู้ช่วยนางวังที่หน้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องการก่อไฟ ควบคุมไฟเพื่อสร้างความอบอุ่นตามตำหนักต่างๆในวัง
- ทึงชกบัง นาอิน (등촉방 나인) ผู้ช่วยนางวังที่หน้าที่ดูแลการจุดตะเกียงหรือโคมไฟ เพื่อให้แสงสว่างตามที่ต่างๆ ภายในวัง
อ่านต่อที่ >>เจาะลึกตำแหน่ง “นางวัง” แห่งราชวงศ์โชซอน (ตอนที่ 2)
------------------------------
แปลและเรียบเรียง: KoreaTown@AsianCastle
แหล่งอ้างอิง : www.hancinema.net , en.wikipedia.org,
thesaurus.history.go.kr , glossary.aks.ac.kr
Post a Comment