5 เทพยดาอารักษ์ประจำหมู่บ้านเกาหลี


5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพยดาอารักษ์ประจำหมู่บ้านของชาวเกาหลี
(Korean Village Guardians)



สิ่งที่ปกปักษ์ดูแลหมู่บ้านเกาหลี มีรูปแบบ และรูปร่างที่แตกต่างกัน ตามแต่ละหน้าที่ และภูมิภาคของพื้นที่นั้นๆ ถือเป็นตัวแทนของมวลมนุษย์ ,สัตว์ในตำนาน หรือแม้แต่เป็นตัวแทนของพระเจ้าที่คอยปกปักษ์ดูแลชาวบ้านในหมู่บ้าน

1. “ชังซึง (장승)”

ชังซึง (장승)” เป็นเสาโทเทมแบบหนึ่งของเกาหลี เป็นเสาที่คอยปกปักษ์ดูแลชาวบ้านในหมู่บ้านั้นๆ ให้พ้นภัยอันตราย และวิญญาณชั่วร้ายทั้งปวง ถือเป็นหนึ่งในวัตถุที่เก่าแก่ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมด้านความเชื่อทางไสยศาสตร์ในกลุ่มของหมอผี ร่างทรง หรือที่เรียกว่า “มู-คโย (무교)” ของเกาหลีโบราณ

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ชังซึง (장승)” มีอายุกว่า 200 ปีก่อนประวัติศาสตร์ เดิมถูกเรียกว่า “พอบซู (법수)” หรือ “พอกซู (벅수)” ต่อมาได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเต๋าเรื่องของการมีชีวิตที่ยาวนานและไม่มีวันตาย ซึ่งตรงกับภาษาเกาหลีคำ “ชังแซงบุลซา (장생불사)” ที่หมายถึง อมตะ, ความไม่ตาย นั่นจึงทำให้ถูกเปลี่ยนมาเรียกเป็น “ชังซึง (장승)”

ในปัจจุบันทางตอนใต้ของจังหวัดชอลลา , จังหวัดชุงชอง และจังหวัดคยองซัง ยังคงเรียก “ชังซึง” ว่า “พอบซู (법수)” หรือ “พอกซู (벅수)” หรือ “พกซา (복사)” ที่มีความหมายว่า “หมอผี”


ชังซึง (장승)” มักจะทำจากไม้แกะสลักเป็นรูปปีศาจ และนิยมแกะสลักตัวอักษรไว้ตรงบริเวณลำต้นด้วย แต่เดิมจะตั้งอยู่ริมขอบแดนของหมู่บ้าน เพื่อทำเครื่องหมายขอบเขตของหมู่บ้านและขับไล่ปีศาจ ทั้งนี้ยังเป็นสิ่งที่ชาวบ้านในหมู่บ้านเคารพบูชา เพราะถือว่าเป็นเทพผู้ปกครองดูแลหมู่บ้านของตน
นอกจากนี้ในจังหวัดชอลลา ชังซึง (장승)” นั้น มักจะทำจากหิน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ “ฮารือบัง (하르방)” ของเกาะเชจู
ชังซึง (장승)” ที่ทำจากหิน

การตั้ง ชังซึง (장승)” สามารถตั้งได้ตั้งแต่หนึ่งเสาขึ้นไป แต่หากมีการตั้งเป็นคู่ มักจะแกะสลักทำเป็นตัวแทน ชายและหญิง ซึ่งมีชื่อดังนี้
- ที่แกะสลักเป็นรูปผู้ชาย จะเรียกว่า ชอนฮา แดจังกุน (천하대장군)” ที่แปลว่า แม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ใต้สรวงสวรรค์
- ที่แกะสลักเป็นรูปผู้หญิง เรียกว่า ชีฮา ยอจังกุน (지하여장군)” หรือ ชีฮาแดจังกุน (지하대장군)” ที่แปลว่า แม่ทัพหญิงใต้ผืนปฐพี

ชังซึง (장승)” คู่ตัวแทนชายและหญิง


2.“
โทแกบี (도깨비)”

โทแกบี (도깨비)” หรือ คนไทยเราอาจเรียกว่า “ด๊กแกบี” หรือ “ด็อกแกบี” หรือเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า ก๊อบลิน (Goblin)  เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่เชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ปกป้องสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในชีวิตของชาวบ้านในสมัยก่อนได้ สามารถพบสัญลักษณ์ “โทแกบี” ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบานประตู หน้าต่างของวัด พระราชวัง หรือบ้านของผู้มีฐานะในสมัยก่อน มีทั้งที่เป็นการลงลายบนบานประตู หน้าต่าง ฝาผนังและโลหะที่จับบานประตูหน้าต่าง

“โทแกบี (도깨비)” เป็นเรื่องเล่าในตำนานของคนเกาหลีตั้งแต่โบราณ ที่เล่ากันต่อๆกันมาว่า “โทแกบี” เป็นผีที่มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ มีเขาบนหัว คล้ายยักษ์ ถือกระบองวิเศษที่มีหนาม ซึ่งเป็นที่น่าหวาดกลัวของคนในสมัยก่อน แต่กับมีอุปนิสัยที่ตลกขบขัน ชอบก่อเรื่อง ทำความเสียหายและเล่นตลกกับพวกคนชั่ว และตอบแทนให้กับคนที่ทำดีด้วยพร และกลัวเลือด
บางครั้งเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ทูดูรี (두두리)” ซึ่งจะนำมาใช้เรียกแทนกรณีที่เป็นตัวละครในการละเล่นพื้นบ้านและเมื่ออยู่ในนิทานหรือเรื่องเล่าเทพยดา

โทแกบี” ต่างกับ “ผี (귀신) ตรงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการตายของมนุษย์ แต่เกิดจากการเปลี่ยนร่างจากวัตถุที่ไม่มีชีวิต
“โทแกบี” ในตำนานของเกาหลี มีตำนานและคุณลักษณะที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่า “ไม่ทำร้ายผู้อื่น เพียงแค่ซุกซนเท่านั้น มักจะแปลงกายเป็นมนุษย์แล้วกลั่นแกล้งนักเดินทางที่เดินทางผ่านมา โดยท้าทายให้แข่งมวยปล้ำเกาหลี “ชีรึม (씨름)” ด้วยกัน และจะให้สิทธิ์ให้สามารถเดินผ่านไปได้เมื่อผู้นั้นชนะในการแข่งขัน”

โทแกบี” ส่วนใหญ่จะถือกระบองที่เรียกว่า “โทแกบี พังมางี (도깨비 방망이)” ซึ่งมีเวทมนตร์เหมือนกับไม้กายสิทธิ์ที่สามารถเรียกหรือเสกสิ่งที่มันต้องการได้ ***แต่กับน่าเสียดายตรงที่ว่าเจ้ากระบองนี้สามารถเสกได้เฉพาะของที่มีอยู่แล้วจากที่ใดที่หนึ่งมาให้ผู้ถือกระบองเท่านั้นเอง หมายความว่า ของสิ่งนั้นได้หายไปจากที่เดิมซึ่งไม่ต่างจากการ “ขโมย” เลยนั่นเอง ^^
โทแกบี” รักการเล่นมวยปล้ำเกาหลี “ชีรึม (씨름)” เป็นที่สุด และพวกมันก็เล่นได้ดี แทบไม่เคยมีผู้ใดชนะพวกมันได้เลย แต่ “โทแกบี” พวกมันก็มีจุดอ่อน นั่นก็คือทางด้านขวาของลำตัวมัน
โทแกบี” ยังมีหมวกวิเศษที่เรียกว่า “โทแกบี คัมทู (도깨비 감투)” มีความพิเศษตรงที่เมื่อมีผู้สวมใส่หมวกนี้จะทำให้ผู้สวมล่องหนได้


แม้“โทแกบี”จะไม่มีตัวตนจริงๆ แต่ก็ได้มีการแบ่งชนิดของพวกมันไว้ ซึ่งชนิดที่พบบ่อยๆก็ได้แก่
ชัมโทแกบี (참도깨비): โทแกบี จอมซุกซน มีอุปนิสัยที่ตรงกันข้ามกับ “แคโทแกบี (개도깨비)”
แคโทแกบี (개도깨비) : โทแกบี ปีศาจร้าย หรือจอมวายร้ายโทแกบี มีอุปนิสัยที่ตรงกันข้ามกับ “ชัมโทแกบี (참도깨비)”
คิมซอบัง โทแกบี (김서방 도깨비): โทแกบี นายคิมหรือ เจ้าไบ้โทแกบี  มีลักษณะเหมือนกับชาวไร่ ชาวนา
นัดโทแกบี (낮도깨비): แตกต่างจากโทแกบี อื่น ๆ ตรงที่พวกมันจะปรากฏตัวในช่วงกลางวัน
โคโทแกบี (고도깨비): เป็นที่รู้จักกันดีในทักษะการต่อสู้ที่แข็งแกร่ง และเก่งในการใช้อาวุธโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนู
คักชีโทแกบี (각시도깨비) และ ชงกักโทแกบี (총각도깨비): เป็นโทแกบี ที่มีความสามารถในการดึงดูดมนุษย์
วีนุนโทแกบี (외눈도깨비): โทแกบี ตาเดียว กินจุ
วีดารีโทแกบี (외다리도깨비): โทแกบี ขาเดียว ชอบเล่นมวยปล้ำเกาหลี “ชีรึม (씨름)” เป็นที่สุด

3. “ฮารือบัง (하르방)”

ฮารือบัง (하르방)” หรือ “โทล ฮารือบัง (돌 하르방)” โดยคำว่า “โทล (돌)” หมายถึง หิน และคำว่า “ฮารือบัง (하르방)” เป็นภาษาถิ่นของเกาะเชจู หมายถึง คุณปู่, คุณตา หรือผู้อาวุโส

ฮารือบัง (하르방)” เป็นรูปปั้นที่ลักษณะคล้ายเห็ดขนาดใหญ่และมีการสลักคล้ายกับรูปของใบหน้าคนลงไป สามารถพบเห็นได้ทั่วไปบนเกาะเชจู โดยพวกเขาเชื่อว่าจะสามารถปกป้องคุ้มครองชาวเมืองจากภัยอันตราย และปกป้องรักษาไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางเกษตรกรรมและการประมง โดยจะตั้งไว้บริเวณประตูเมือง


4. “โซดแด (솟대)”

โซดแด (솟대)” คือ เสาสูงทำมาจากไม้หรือหินที่มีการแกะสลักไม้หรือต่อไม้เป็นรูปนกติดไว้ด้านบนของเสา ถูกสร้างขึ้นตามความเชื่อพื้นบ้านของชาวเกาหลีโบราณ มักสร้างหรือตั้งไว้บริเวณทางเข้าของหมู่บ้านเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนิยมมากราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล ขอพร คล้ายกับ “ชังซึง (장승)” ในข้อที่ 1* และยังเป็นสัญลักษณ์เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์และความอุดมสมบูรณ์บนแผ่นดินโลกอีกด้วย


โซดแด (솟대)” ที่ทำจากไม้ และที่ทำจากหิน

ในสมัยโบราณชาวเกาหลีเชื่อว่า “เทพเจ้า หรือที่เรียกว่า ฮวานิน (환인)” อาศัยอยู่ในสรวงสวรรค์บนท้องฟ้า และเทพเจ้าบางองค์ประทับอยู่บนภูเขาสูงหรือในต้นไม้ ซึ่งคนในสมัยนั้นเชื่อว่า “นก” เป็นสัตว์ที่สามารถส่งสารระหว่างคนและเทพเจ้าได้  โซดแด (솟대)” จึงเป็นเสาที่มีการนำเอานกไม้แกะสลักมาติดไว้ที่ปลายเสาด้านบน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อกันระหว่างสวรรค์และโลก


โซดแด (솟대)” เป็นที่ที่ชาวเกาหลีจะได้อธิษฐานต่อสรวงสวรรค์เมื่อพวกเขามีความสุขหรือความทุกข์ นอกจากนี้ยังถูกสร้างขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลองหรือเพื่อเป็นที่ระลึกภายในบ้านเมื่อมีเรื่องที่น่ายินดี เช่น ลูกชายสามารถสอบติดขุนนางได้ เป็นต้น
โซดแด (솟대)” สามารถตั้งขึ้นไว้เพียงเสาเดียวลำพัง หรืออาจตั้งขึ้นร่วมกับ ชังซึง (장승)” เสาโทเทมในข้อที่ 1* หรือตั้งอยู่รวมกับ “โทลทัม (돌탑)” ที่เป็นเจดีย์ที่เกิดจากการวางเรียงซ้อนของหินของชาวบ้าน หรืออาจตั้งอยู่ข้างต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “ชินมก (신목)”
ด้านซ้ายคือ “โทลทัม (돌탑)” / ด้านขวาคือ “ชินมก (신목)”

โซดแด (솟대)” ยังมีชื่อเรียกอื่นๆอีกซึ่งแตกต่างกันไปตามเขตพื้นที่ ดังนี้
- เรียกว่า “โซจู (소주)” ในจังหวัดชอลลา,
- เรียกว่า “ซลแด (솔대)” ในจังหวัดคังวอนและย่านฮัมฮึง,
- เรียกว่า “บยอลชินแด (별신대)” ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดคยองซัง,
- เรียกว่า “ซดแด (솟댁) ในจังหวัดฮวังแฮและจังหวัดพยองอัน,
และในชื่อเรียกอื่นๆอย่าง พโยจุซแด (표줏대), คอริซแด (거릿대), ซูซัลมก (수살목), และ ซอนังแด (선앙대)
นก “โซดแด (솟대)”  นกแกะสลักที่เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของ “โซดแด (솟대)” อาจจะเป็นห่านป่า, นกนางนวล, นกช้อนหอย (ibises), นกกางเขนเกาหลี, อีกา หรือที่มักพบบ่อยมากที่สุดก็คือ “เป็ด”
“เป็ด” ให้ความหมายและเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ โซดแด (솟대)”  ตรงที่พวกมันสามารถที่จะเดินทางไปในน้ำ บนบก และอากาศ อีกทั้งยังสามารถดำลงไปในน้ำได้อีกด้วย เป็ดจึงถูกมองว่ามีความสามารถในการควบคุมฟ้าฝนได้ สามารถทำให้หมู่บ้านรอดจากอุทกภัยและอัคคีภัยได้ ด้วยความเชื่อนี้ทำให้คนในสมัยก่อนเชื่อว่าเป็ดเป็นผู้ปกครองในสังคมการเกษตรโบราณ

5. “พังซาทับ (방사탑)”

“พังซาทับ (방사탑)”  มีลักษณะเป็นภูเขาหินสูงรูปทรงเจดีย์มีรูปนกแกะสลักหรือหินรูปทรงคล้ายนกวางไว้ด้านบนคล้ายกับ “โซดแด (솟대)” ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสูงประมาณ 2 เมตร เป็นความสูงที่เชื่อกันว่าสามารถปกป้องหมู่บ้านได้อย่างทั่วถึงทั้งหมู่บ้าน มักตั้งไว้ที่นอกกำแพงหน้าทางเข้าหมู่บ้านเพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้าย และที่สร้างมาจากหินนั้น ก็เพราะเชื่อกันว่าหินนั้นมีพลังงานบวกและจะนำความโชคดีมาให้


มักพบเห็นได้มากบนเกาะเชจู ท่ามกลางพื้นที่การเกษตร ข้างถนนชนบท หรือแม้แต่ในทะเลตามชายฝั่งจนเหมือนกับฐานประภาคารร้าง “พังซาทับ (방사탑)” ที่เก่าแก่ที่สุดบนเกาะเชจูที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 300 ปีก่อน แต่บนเกาะเชจูมักนิยมนำ ฮารือบัง (하르방)” *ในข้อที่3 มาตั้งไว้ด้านบนแทนนกแกะสลัก


------------------------------
แปลและเรียบเรียง: KoreaTown@AsianCastle
แหล่งอ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ : lifeinkorea.com , jejuogdom.com ,
english.whatsonkorea.com jejuweekly.com

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.