ตำแหน่งหรือยศต่างๆ ของราชวงศ์เกาหลี

ชื่อตำแหน่งหรือยศต่างๆ ของราชวงศ์เกาหลี

(โดยอ้างอิงในช่วงสมัยโชซอนและจักรวรรดิเกาหลีเป็นหลักนะคะ)


ในลำดับขั้นของกษัตริย์

ฮวังเจ (황제) : องค์จักรพรรดิ ขานแทนพระนามว่า พเยฮา (폐하) พระเจ้าแผ่นดินที่ได้ขึ้นครองราชย์ในฐานะองค์จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเกาหลีมีเพียง 2 พระองค์เท่านั้น
  1. สมเด็จพระจักรพรรดิควางมู (광무제) หรือ พระเจ้าโกจง (고종 광무제)
  2. สมเด็จพระจักรพรรดิยุงฮีแห่งจักรวรรดิเกาหลี (융희제)
    (ไม่รวมรายพระนามที่มีการอ้างสิทธิ์)
พระบรมฉายาลักษณ์จริงของสมเด็จพระจักรพรรดิควางมู  แห่งจักรวรรดิเกาหลี

ซอนแดวัง
(선대왕) : ปฐมกษัตริย์  ขานแทนพระนามว่า มามา (마마)
แทวัง (대왕) : พระมหากษัตริย์ (องค์กษัตริย์ที่พระนามต่อท้ายด้วย ‘มหาราช’) มีเพียง 4 พระองค์เท่านั้นที่ถูกสถาปนาเป็นมหากษัตริย์แห่งเกาหลี ขานแทนพระนามว่า มามา (마마)
  1. พระเจ้าแทโจมหาราช (태조대왕)กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรโคกูรยอ
  2. พระเจ้าควางแคโทมหาราช (광개토대왕) กษัตริย์องค์ที่ 19 แห่ง อาณาจักรโคกูรยอ
  3. พระเจ้าจางซูมหาราช (장수대왕)กษัตริย์องค์ที่ 20 แห่ง อาณาจักรโคกูรยอ เป็นพระราชโอรสองค์โตใน พระเจ้ากวางแกโตมหาราช
  4. พระเจ้าเซจงมหาราช ( 세종대왕) พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์โชซอน

วัง (왕) : กษัตริย์องค์ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้เป็นคำนามหรือคำต่อท้ายชื่อขององค์กษัตริย์ สำหรับคำสรรพนาม หรือคำขานแทนพระนามที่ใช้เรียกองค์กษัตริย์มีอยู่หลายคำด้วยกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ วาระและตำแหน่งของผู้พูดด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปขานแทนพระนามว่า ชอนฮา (전하) ส่วนคำอื่นได้แก่ คำว่า ชุซัง (주상), อิมกึบ (임금), นารันนิม (나랏님), กุกวัง (국왕), กึมซัง (금상), ซังกัม (상감), แทจอน (대전) และ ควาอิน (과인)
ยอวัง (여왕) : พระราชินี กษัตริย์ที่เป็นสตรี หรืออาจใช้คำว่า ‘วัง (왕)’ ก็ได้เช่นกัน
ซังวัง (상왕) : อดีตกษัตริย์ ซึ่งเป็นพ่อของกษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ทรงสละราชสมบัติให้พระโอรสขึ้นครองราชย์แทนในขณะที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ขานแทนพระนามว่า ชอนฮา (전하)

พระเจ้าเซจง (ชุดมังกรแดง) ภายใต้อำนาจของอดีตกษัตริย์แทจงซังวัง (ชุดมังกรสีน้ำเงินเข้ม)
จากเรื่อง Tree With Deep Roots (SBS, 2011)


แทซังวัง (태상왕) : ปู่ของกษัตริย์องค์ปัจจุบันที่เป็นอดีตกษัตริย์และยังมีพระชนม์ชีพอยู่ แต่ได้ทรงสละราชสมบัติให้กับพ่อของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ขานแทนพระนามว่า ชอนฮา (전하)

ในลำดับขั้นของพระมเหสี อดีตมเหสีและพระสนม

ฮวางฮู (황후) : จักรพรรดินี พระมเหสีของจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเกาหลี

จักรพรรดินีเมียงซอง จากเรื่อง The Sword with No Name (ภาพยนตร์, 2009)

ฮวังแทฮู (
황태후) : สมเด็จพระพันปีหลวง เป็นตำแหน่งที่ถูกแต่งตั้งให้กับ อดีตพระมเหสี หรือพระมารดา โดยจะมีคำว่า ‘태후’ ต่อท้ายชื่อพระนาม เช่น สมเด็จพระพันปีหลวงชอนชู (천추태후) และยังหมายถึงพระอัยยิกาของจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน หรืออดีตจักรพรรดินีของจักรพรรดิองค์ก่อน
วังฮู (왕후) : เป็นคำที่ต่อท้ายชื่อขององค์สมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระมเหสีที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว
วังบี (왕비) : พระมเหสีของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งแบ่งเป็นยศหรือตำแหน่งย่อยๆได้อีก ซึ่งได้แก่ ควีบี (귀비), ซุกบี (숙비), วอนบี (원비), ด๊อกบี (덕비), ฮยอนบี (현비) ขานแทนพระนามว่า ชอนฮา (전하) หรือ มามา (마마)
แดวังแดบี (대왕대비) : พระหมื่นปี พระอัยยิกา หรือย่าของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน อาจเป็นพระอัยยิกาแท้ๆหรืออาจเป็นพระอัยยิกาเลี้ยง หรือ สตรีที่เป็นพระญาติที่อายุมากกว่า  วังแดบี (왕대비) ขานแทนพระนามว่า มามา (마마)
วังแดบี (왕대비) : พระพันปี , พระพันปีหลวง ใช้เรียกพระมเหสีของอดีตองค์กษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว , พระมารดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน, เจ้าคุณจอมมารดา และยังใช้เรียกสตรีที่เป็นผู้อาวุธโสในราชวงศ์ หรือพระมารดาที่ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์กษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์ ขานแทนพระนามว่า มามา (마마)
แดบี (대비) : พระราชชนนี, พระพันปีหลวง ใช้เรียกพระมเหสีของอดีตองค์กษัตริย์แบบรวมๆ โดยไม่ระบุตำแหน่ง ซึ่งอาจหมายถึง  "วังแดบี (왕대비) " หรือ "แดวังแดบี (대왕대비)" บางครั้งใช้เรียก พระปัยยิกา หรือย่าทวดของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน หรือ สตรีที่เป็นพระญาติที่อายุมากกว่า "แดวังแดบี (대왕대비)" ขานแทนพระนามว่า มามา (마마)

วังแดบี (왕대비) จากเรื่อง The Moon That Embraces the Sun (MBC, 2012)

แทซังวังบี (
태상왕비) : พระมเหสีในองค์แทซังวัง (태상왕) ขานแทนพระนามว่า มามา (마마)
ฮูกุง (후궁) : พระสนม พระสนม สตรีที่ถูกรับเลือกหรือได้รับความชื่นชอบจากองค์กษัตริย์ให้เป็นอนุภรรยาของพระเจ้าแผ่นดิน นอกจากนี้สตรีที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสนมอาจได้รับตำแหน่งมาด้วยวิธีการอื่นๆอีก เช่น สตรีที่ให้กำเนิดบุตรชายให้แก่องค์กษัตริย์ หรือเป็นสตรีที่ได้รับการอุปถัมป์จากพระมเหสี บุตรหรือธิดาที่เกิดจากพระสนมจะมียศต่ำกว่าพระราชโอรสและพระราชธิดาที่เกิดจากพระมเหสี ในขณะที่บุตรชายที่เกิดจากสนมก็มีโอกาสที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รัชทายาทด้วยเช่นกัน
ตำแหน่งพระสนมสามารถแบ่งออกเป็นตำแหน่งได้ย่อยๆได้อีก ดังนี้
ลำดับขั้นที่ 1 ( พระสนมในตำแหน่งนี้จะมีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกับพระมเหสี ทำให้พระสนมทั้งสองตำแหน่งนี้จะเป็นที่ปรึกษาและถวายงานร่วมกับพระมเหสีเป็นหลัก)
- พิน (빈) (ต่อท้ายชื่อพระนามจะออกเสียง ‘บิน’) ตำแหน่งพระสนมขั้น 1 ชั้นเอก เป็นตำแหน่งยศสูงสุดของพระสนมในวัง ผู้ที่รับการแต่งตั้งในตำแหน่งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากพระมเหสีและขุนนาง ในขณะที่สตรีหรือสนมในตำแหน่งต่างๆ หากให้กำเนิดบุตรชายและบุตรของตนนั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองค์รัชทายาท สตรีผู้ให้กำเนิดจะได้รับการแต่งตั้งเป็นสนมเอกยศ ‘พิน (빈)’ ขานแทนพระนามว่า จากา (자가)

พระสนมจางฮีบิน จากเรื่อง Jang Ok Jung (SBS,2013)

พระสนมในตำแหน่งนี้จะถูกแต่งตั้งและขนานนามด้วยชื่อต่างๆกันตามแต่ลักษณะและบุคลิกของพระองค์นั้น ซึ่งได้แก่ ควีบิน ( 귀빈 ) , ฮีบิน ( 희빈 ) , ซุกบิน ( 숙빈 ) , คยองบิน ( 경빈 ) , ชางบิน( 창빈 ) , ซอนบิน ( 선빈 ) , อึยบิน ( 의빈 ) , ฮโยบิน ( 효빈 ) , ซินบิน ( 신빈 ) , ยองบิน ( 영빈 ) ,  คงบิน ( 공빈 ) , มยองบิน ( 명빈 ) , ซองบิน ( 성빈 ) , ซูบิน ( 수빈 ) , วอนบิน ( 원빈 ) , ฮวาบิน ( 화빈 ) , อินบิน ( 인빈 ) , จองบิน ( 정빈 ) , ฮเยบิน ( 혜빈 ) , ฮยอนบิน ( 현빈 ) , โซบิน ( 소빈 ) และ ด๊อกบิน ( 덕빈 ) เป็นต้น
- ควีอิน (귀인) ตำแหน่งพระสนมขั้น 1 ชั้นโท เป็นตำแหน่งยศรองจาก ‘พิน (빈)’
ลำดับขั้นที่ 2 (พระสนมที่ให้กำเนิดบุตรชาย หรือพระโอรสนั้นจะได้แต่งตั้งในตำแหน่ง ‘ซุกอี (숙의)’ ‘โซอี (소의)’ และ ‘ควีอิน (귀인)’ )
- โซอี (소의) ตำแหน่งพระสนมขั้น 2 ชั้นเอก
- ซุกอี (숙의) ตำแหน่งพระสนมขั้น 2 ชั้นโท
ลำดับขั้นที่ 3 (นางสนมในตำแหน่งนี้จะดูแลรับผิดชอบการจัดงานและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับพระบรมอรรคราชบรรพบุรุษ หรือ บรรพบุรุษขององค์กษัตริย์ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ดูแลต้อนรับแขกของราชวงศ์ พระญาติ และบุคคลสำคัญที่เข้ามาในพระราชวัง)
- โซยง (소용) ตำแหน่งพระสนมขั้น 3 ชั้นเอก
- ซุกยง (숙용) ตำแหน่งพระสนมขั้น 3 ชั้นโท
ลำดับขั้นที่ 4 (นางสนมในตำแหน่งนี้จะดูแลงานในเรื่องของเสื้อผ้า และงานที่เกี่ยวข้องกับผ้าเป็นส่วนใหญ่)
- โซวอน (소원) ตำแหน่งพระสนมขั้น 4 ชั้นเอก
- ซุกวอน (숙원) ตำแหน่งพระสนมขั้น 4 ชั้นโท เป็นตำแหน่งแรกของสตรีที่เข้ามาถวายงานในพระราชวังในฐานะนางสนม

ในลำดับขั้นองค์หญิง และองค์ชาย

ฮวังแทจา (황태자) : มกุฎราชกุมารแห่งเกาหลี, องค์ชายรัชทายาท ที่เป็นพระโอรสหรือลูกชายขององค์จักรพรรดิ ขานแทนพระนามว่า ชอนฮา (전하)
ฮวังแทจาบี (황태자비) : พระชายาเอกในองค์รัชทายาทฮวังแทจา ภรรยาหรือคู่สมรสขององค์ชายรัชทายาท ในตำแหน่ง ‘ฮวังแทจา (황태자)’
ฮวังแทเจ (황태제) : องค์รัชทายาทที่เป็นพี่ชายหรือน้องชายของจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อรับตำแหน่งเป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป ในกรณีที่จักรพรรดิองค์ปัจจุบันไม่มีพระโอรสหรือไม่มีผู้เหมาะสม
ฮวังจา (황자) : องค์ชาย ที่เป็นพระโอรส หรือลูกชายขององค์จักรพรรดิที่เกิดจากจักรพรรดินี หรือพระมเหสีขององค์จักรพรรดิ
ฮวังนยอ (황녀) : องค์ชาย ที่เป็นโอรส หรือลูกชายขององค์จักรพรรดิที่เกิดจากสนม ซึ่งตำแหน่งจะต่ำกว่า ‘ฮวังจา (황자)’
ฮวังเซซน (왕세손) : พระโอรสขององค์รัชทายาทในองค์จักรพรรดิ (หลานขององค์จักรพรรดิที่เกิดกับองค์รัชทายาทและพระชายา) ขานแทนพระนามว่า ชอฮา (저하)
วังเซจา (왕세자) : องค์ชายรัชทายาทที่สืบเชื้อสายโดยตรง พระโอรสของกษัตริย์ที่ได้รับเลือกและแต่งตั้งให้ครองราชบัลลังก์ต่อจากพ่อ บางครั้งอาจเรียกย่อๆว่า เซจา (세자) ขานแทนพระนามว่า ชอฮา (저하)
วังเซจาบิน (왕세자빈) : พระชายาเอกในองค์รัชทายาทวังเซจา ภรรยาหรือคู่สมรสขององค์ชายรัชทายาท ‘วังเซจา (왕세자)’ บางครั้งอาจเรียกย่อๆว่า เซจาบิน (세자빈) ขานแทนพระนามว่า มามา (마마)

พิธีสมรสระหว่าง วังเซจา (왕세자) กับ วังเซจาบิน (왕세자빈)
จากเรื่อง The Moon That Embraces the Sun

วังเซเจ (
왕세제) : องค์รัชทายาทที่เป็นพี่ชายหรือน้องชายของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อรับตำแหน่งเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ในกรณีที่กษัตริย์องค์ปัจจุบันไม่มีพระโอรสหรือไม่มีผู้เหมาะสม ขานแทนพระนามว่า ชอฮา (저하)
วังเซเจบิน (왕세제빈) : พระชายาเอกในองค์รัชทายาทวังเซเจ ภรรยาหรือคู่สมรสขององค์รัชทายาท ‘วังเซเจ (왕세제)’ ขานแทนพระนามว่า มามา (마마)
นางสนมในองค์รัชทายาทสามารถ แบ่งออกได้เป็นดังนี้ (จะเริ่มจากขั้นที่ 2 เลย ขั้นที่ 1 คือพระชายาเอกนั่นเอง) ลำดับขั้นที่ 2 ยางเจ (양제), ลำดับขั้นที่ 3 ยางวอน (양원), ลำดับขั้นที่ 4 ซึงฮวี (승휘) และ ลำดับขั้นที่ 5 โซฮุน (소훈) ตามลำดับ

วอนจา (원자) : องค์ชายองค์โตสุด หรือบุตรคนแรกของกษัตริย์ที่เป็นว่าที่องค์รัชทายาท เป็นตำแหน่งที่ใช้เรียกก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นองค์รัชทายาท ขานแทนพระนามว่า มามา (마마)
วังเซซน (왕세손) : พระโอรสขององค์รัชทายาท ขานแทนพระนามว่า กักฮา (각하)
วังเซซนบิน (왕세손빈) : ภรรยาหรือคู่สมรสของพระโอรสขององค์รัชทายาท ภรรยาของ ‘วังเซซน (왕세손)’
แทวอนกุน (대원군) : พระราชบิดา พ่อขององค์กษัตริย์ ที่ตนเองไม่ได้เป็นกษัตริย์มาก่อน (ภาษาชาวบ้านก็คือ ตัวเองไม่ได้เป็นกษัตริย์ แต่ลูกชายได้เป็น นั่นเอง) ขานแทนพระนามว่า ฮับอา (합하) ในสมัยโชซอนมีผู้ได้รับสถาปนาในพระนามนี้ทั้งสิ้น 4 พระองค์ด้วยกันคือ
  1. องค์ชายทอกกึง (덕흥대원군) พระราชบิดาของพระเจ้าซอนโจ
  2. องค์ชายชองวอน (정원대원군) พระราชบิดาของพระเจ้าอินโจ
  3. องค์ชายชอนกเย (전계대원군)** พระราชบิดาของพระเจ้าชอลจง
  4. องค์ชายฮึงซอน (흥선대원군) พระราชบิดาของพระเจ้าโคจง
** แทวอนกุน (대원군) เป็นตำแหน่งของพระบิดาของกษัตริย์โชซอนซึ่งมักจะล่วงลับไปแล้ว เพียงองค์ชายชอนกเย (전계대원군 ) เท่านั้น ที่ได้รับตำแหน่งในขณะที่มีพระชนม์ชีพอยู่
พูแดบูอิน (부대부인) : เป็นคำสรรพนามที่ใช้เรียกคู่สมรสหรือภรรยาขององค์ชายในตำแหน่ง ‘แทวอนกุน (대원군)’ , สตรีที่มีลูกได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์โดยที่สามีนั้นไม่ได้ครองราชย์มาก่อน ขานแทนพระนามว่า มามา (마마)
แทกุน (대군) : องค์ชายที่เป็นพระโอรสของกษัตริย์ที่เกิดกับพระมเหสี และไม่ได้รับการสถาปนาเป็นองค์รัชทายาทและยังไม่ได้สมรส หลังจากการสมรสแล้วจะเปลี่ยนเป็น ‘แทกัม (대감)’ ขานแทนพระนามว่า อากีซี (아기씨)  เมื่อทรงพระเยาว์และยังไม่ได้เข้าพิธีสมรส และขานแทนพระนามว่า แทกัม (대감) เมื่อเข้าพิธีสมรสแล้ว
พูบูอิน (부부인) : เป็นคำสรรพนามที่ใช้เรียกคู่สมรสหรือภรรยาขององค์ชายในตำแหน่ง ‘แทกุน (대군)’ หรือ ‘แทกัม (대감)’ ขานแทนพระนามว่า มามา (마마)
พูวอนกุน (부원군) : พ่อของพระมเหสี ขานแทนพระนามว่า แทกัม (대감)
วังจา (왕자) : องค์ชาย เป็นคำนามที่ใช้เรียกองค์ชายที่มีเชื้อพระวงศ์โดยทั่วไป ตำแหน่งยศที่ลงท้ายพระนามจะลงท้ายด้วยคำว่า ‘กุน (군)’ ขานแทนพระนามว่า อากีซี (아기씨)  เมื่อทรงพระเยาว์และยังไม่ได้เข้าพิธีสมรส และขานแทนพระนามว่า แทกัม (대감) เมื่อเข้าพิธีสมรสแล้ว
กุน () : องค์ชาย พระโอรสของกษัตริย์ที่เกิดจากสนม หรือ หลานชายของกษัตริย์ที่เกิดจากองค์ชายตำแหน่ง ‘แทกุน (대군)’ และพระชายา ขานแทนพระนามว่า อากีซี (아기씨)  เมื่อทรงพระเยาว์และยังไม่ได้เข้าพิธีสมรส และขานแทนพระนามว่า แทกัม (대감) เมื่อเข้าพิธีสมรสแล้ว
กุนบูอิน (군부인) : พระชายา ภรรยาขององค์ชายในตำแหน่ง ‘กุน (군)’ ขานแทนพระนามว่า มามา (마마)
กงจู (공주) : องค์หญิง พระธิดาของกษัตริย์ที่เกิดกับพระมเหสี ขานแทนพระนามว่า อากีซี (아기씨) เมื่อทรงพระเยาว์และยังไม่ได้เข้าพิธีสมรส ขานแทนพระนามว่า มามา (마마) เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และขานแทนพระนามว่า จากา (자가) เมื่อเข้าพิธีสมรสแล้ว

องค์หญิงจองมยอง (정명공주 ) จากเรื่อง Hwajung (MBC, 2015)

องจู (
옹주) : องค์หญิง พระธิดาของกษัตริย์ที่เกิดจากสนม มเหสี ขานแทนพระนามว่า อากีซี (아기씨) เมื่อทรงพระเยาว์และยังไม่ได้เข้าพิธีสมรส ขานแทนพระนามว่า มามา (마마) เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และขานแทนพระนามว่า จากา (자가) เมื่อเข้าพิธีสมรสแล้ว
กุนวี (군위) : ราชบุตรเขย พระราชบุตรเขย พระสวามีขององค์หญิง ลูกเขยของกษัตริย์ ขานแทนพระนามว่า พูมา (부마)
กุนจู (군주) : องค์หญิง พระธิดาขององค์รัชทายาทกับพระชายา
วังนยอ (왕녀) : องค์ชายที่มีเชื้อพระวงศ์หรือสืบเชื้อพระวงศ์ห่างๆ (ที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งข้างต้น)
กุนอี (군의) : ภรรยาเอกขององค์ชายในตำแหน่ง ‘วังนยอ (왕녀)’ ภรรยาขององค์ชายที่มีเชื้อพระวงศ์

คำที่อาจได้ยินจากในละครประวัติศาสตร์ , หนังย้อนยุค หรือซีรีย์ซากึก*ของเกาหลี (* “ซากึก (사극)” หมายถึง ละครประวัติศาสตร์)
ซังกัมมามา (상감마마) หมายถึง ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท (ใช้กับกษัตริย์)
ชุงจอนมามา (중전마마) หมายถึง ใต้ฝ่าละอองพระบาท (ใช้กับพระมเหสี)

--------------------------
แปลและเรียบเรียง: KoreaTown@AsianCastle
แหล่งอ้างอิง : http://www.hancinema.net , https://en.wikipedia.org,
http://thesaurus.history.go.kr , http://www.liquisearch.com

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.